วัฒนธรรมประเพณีผีขนน้ำ

วัฒนธรรมประเพณีผีขนน้ำ 

บ้านนาซ่าว 

ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

          งานประเพณีผีขนน้ำ เป็นงานบุญเดือนหก จัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชา ช่วงวันแรม1-3 ค่ำ ถือเป็นงานประจำปีของชาวบ้านตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการขอฝนในวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปี  กล่าวกันว่าชาวบ้านนาซ่าว แต่เดิมเป็นคนไทยพวน อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรมที่ นาซำหว้า แล้วขยายชุมชนมาที่บ้านสองโนน  แก่นของความเชื่อของประเพณีท้องถิ่นที่นี่คือการนับถือผี  โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ “เจ้าปู่” ที่พำนักในศาลเจ้าปู่นาซ่าว บริเวณปากทางหมู่บ้านใกล้กับวัดโพธิ์ศรี ในพิธีกรรมจะมีการเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ซึ่งก็คือชาวบ้านที่แต่งกายเป็นวิญญาณของวัวควาย ที่คอยติดตามผู้คนไปตักน้ำหาฟืนในขณะที่เดินผ่านห้วยหนองคลองบึง  พิธีนี้อีกนัยหนึ่งก็คือการรำลึกถึงบุญคุณวัวควายที่เป็นแรงงานช่วยทำนา

            จุดเด่นของผีขนน้ำอยู่ที่หน้ากากไม้  ไม้ที่ใช้คือไม้เนื้ออ่อนได้แก่ไม้ต้นนุ่น(ต้นงิ้ว)และไม้พญาสัตบรรณ(ต้นตีนเป็ด) มีการเขียนลวดลายสวยงาม ลายโบราณมีชื่อเรียกว่าลายบัวเครือและลายผักแว่น หน้ากากมีการวาดให้หน้าคล้ายวัวควาย ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ ปากมีรอยยิ้ม มีการนำหวายมาตรึงกับหน้ากากให้โค้งเหมือนเขาควาย ใช้กระดาษสีตัดเป็นริ้วประดับ ผมจะทำมาจากกาบกล้วยนำมาผึ่งแดดให้แห้งแล้วถักเป็นเปียให้ดูผมยาว  การแต่งเป็นผีขนน้ำไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อห้าม สามารถแต่งเป็นผีขนน้ำได้ทุกเพศทุกวัย  ผีขนน้ำยังเรียกอีกชื่อว่า แมงหน้างาม

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่กำลังแต่งกายเพื่อเข้าร่วมพิธี เขาบอกว่าแทบทุกบ้านจะมีหน้ากากไม้อยู่แล้ว ใช้ซ้ำได้ทุกปี ถ้าจะทำใหม่มีคนรับจ้างทำ ราคาประมาณ 500 บาท ถ้าหน้ากากอันไหนผ่านพิธีมาแล้วขายอันละ 1,000 บาท ส่วนเสื้อผ้าใช้เศษผ้าสีต่างๆตัดเป็นริ้วๆให้เป็นเหมือนขนสัตว์  โดยเรื่องเล่ามีอยู่ว่าวิญญาณวัวควายที่ติดตามชาวบ้านเข้าหมู่บ้านมา ได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นขนสัตว์กับเสียงกระดึงที่ไม่สามารถมองเห็นตัว สมัยก่อนจึงเรียกกันว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” พอเป็นการละเล่นก็เรียกว่า การละเล่นผีขน  หลังจากการละเล่นนี้ ฝนมักจะตกทุกครั้ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผีขนน้ำ”

            งานประเพณีผีขนน้ำเริ่มขึ้นในตอนเช้า  เริ่มจากการเชิญร่างทรงเจ้าปู่จากศาล  แล้วพามาที่ลานกีฬาสถานที่จัดงานของอบต.นาซ่าว  ผู้ประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านเรียกว่า จ้ำ เจ้าปู่ในที่นี้คือเจ้าปู่จิรมาณพและเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสองคือ บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม   สมัยก่อนมีความแตกต่าง โดยก่อนวันงาน จ้ำจะไปบอกชาวบ้านทุกหลังคาเรือน มีการทำพิธีเลี้ยงผีบ้าน มีการบวงสรวงสัตว์โดยนำไปผูกหลักเลี้ยงให้สัตว์ตายเอง แล้วอัญเชิญผีเจ้าปู่และผีบรรพบุรุษให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่มีการบวงสรวงด้วยสัตว์แล้ว เครื่องเซ่นเป็นข้าวปลาอาหารตามปกติทั่วไป

จำนวนคนแต่งกายเป็นผีขนน้ำมีหลายร้อยคน ทั้งหน้ากากและชุดสีสันสดใสดูละลานตา  ทุกคนพากันยืนแถวรอกันอย่างเป็นระเบียบ  ใกล้กันมีรถขบวน มีเทพีประจำขบวนนั่งอยู่บนรถ รถสวยงามตกแต่งด้วยผลิตผลการเกษตร  เครื่องจักสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  รถนำขบวนคันที่แต่งเป็นหน้ากากขนาดใหญ่  มีความโดดเด่นสะดุดตามาก

เมื่อร่างทรงเจ้าปู่เดินเข้ามายังลานพิธี  บรรดาผีขนน้ำได้นั่งลง พิธีกรของงานนำเครื่องบูชาไปรับด้วยความนอบน้อม จากนั้นผีขนน้ำจำนวนหนึ่งพากันมาห้อมล้อมเจ้าปู่  พร้อมกับเต้นไปรอบๆด้วยความครึกครื้นตามเสียงเพลงจังหวะสนุกสนาน  ร่างทรงของเจ้าปู่มีสีหน้ายินดีปรีดา สักพักหนึ่ง พิธีกรของงานได้เชิญร่างทรงเจ้าปู่ขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ด้านบนเวที  โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าไปหาร่างทรงเจ้าปู่ มีการจุดเทียนให้ร่างทรงทำพิธีให้ เพื่อเป็นสิริมงคลและให้ได้ตามคำขอ

            จากนั้นเป็นพิธีการบนเวที มีบุคคลสำคัญของหน่วยงานต่างๆที่ได้ให้การสนับสนุน ขึ้นมากล่าวเปิดงาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกอบต.นาซ่าว และยังมีกรมการข้าว จังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชมกุฏราชวิทยาลัยและททท.จังหวัดเลย ให้การสนับสนุน คุณสิทธิศักดิ์ สารสี นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ อบต.นาซ่าว ได้บอกว่าปีนี้การจัดขบวนแห่มีความแตกต่างจากปีก่อนๆ  มีการจัดรูปแบบงานชัดเจนมากขึ้น มีการแบ่งขบวนของ 15 หมู่บ้านออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีป้ายนำขบวน มีนางรำแต่งชุดรำสวยงามมาร่ายรำ

จากนั้นมีการเต้นโชว์ของผีขนน้ำของแต่ละขบวน  มีคณะกรรมการตัดสิน อาจารย์จินตนา นนทการ จากโรงเรียนบ้านใหม่  หนึ่งในคณะกรรมการ ได้จับตามองขบวนแห่พร้อมกับมีตารางการให้คะแนนอยู่ในมือ เกณฑ์การตัดสินได้แก่ การจัดขบวน(การตกแต่งรถขบวนด้วยผลิตผลการเกษตร นางรำ เทพี) ขบวนผีขนน้ำ( ท่าเต้น 7 ท่า) ความสวยงามของหน้ากากผีขนน้ำด้วยลวดลายดั้งเดิมและลักษณะเครื่องแต่งกาย  อาจารย์จินตนาบอกว่าท่าเต้น 7 ท่า เป็นการคิดขึ้นมาใหม่โดยอาจารย์สำเนียง ทาก้อม ข้าราชการครูเกษียน แต่ละท่ามีชื่อดังนี้  ท่าออกเหล่า(การเรียกรวมพวกพ้อง) ท่าครอบเจ้าปู่(การคารวะเจ้าปู่) ท่าเล่นบุญ(ความสนุกสนาน) ท่าขอฟ้าขอฝน(ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล) ท่าแมบน้ำซ่ำตม(การเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน) ท่าตอมแหล่ง(การรวมกลุ่มหลังการละเล่น) ท่าลาเลิก(อำลาเจ้าปู่)  

            ในขบวนแห่ผีขนน้ำ ยังมีผีขนน้ำกลุ่มที่มีเครื่องดนตรีนำมาเคาะบรรเลงเป็นสีสัน เพิ่มความสนุกสนาน มีกลอง กะลอ  แคน พิณ   แล้วยังมีการนำกระดิ่งมามัดข้างลำตัวให้เกิดเสียง  นอกจากนี้เรายังได้เห็นอารมณ์ขันของชาวบ้านบางคน โดยหน้ากากผีขนน้ำจะมีไม้มามัดเป็นลูกระนาด ไว้ยึดถ่วงน้ำหนักกับหน้ากากไม่ให้หลุดและปิดหน้า  ซึ่งไม้นี้จะห้อยอยู่ที่หลัง มีข้อความที่ทำให้คนอ่านอมยิ้ม เป็นต้นว่า ผีขนน้ำจ้า ดินแดนแห่งตำนาน ทั้งใหญ่ทั้งยาว แจ๋วจริงจัง แอบรักผัวเขา สาวลูกสอง

            กิจกรรมที่จัดที่ลานกีฬาของอบต.นาซ่าว ใช้ระยะเวลาประมาณสามชั่วโมง จากนั้นเป็นการเคลื่อนขบวนผีขนน้ำเข้าหมู่บ้านแล้วไปยังวัดโพธิ์ศรี  ระยะทางประมาณ 800 เมตร บรรยากาศในถนนเส้นเล็กในหมู่บ้านมีความครึกครื้น จุดที่มีคณะกรรมการให้คะแนนจะมีชาวบ้านไปรวมตัวกันรอดูการเต้นของผีขนน้ำกันมากเป็นพิเศษ  บางจุดมีช่างภาพไปนั่งบนเรือนชานเพื่อดักรอจับภาพสวยๆ  ในหมู่บ้านเราได้เห็นรูปแบบของบ้านในวิถีชีวิตเกษตรกรรม บ้านไม้แบบพื้นถิ่นมีกองฟืนเป็นท่อนจัดเรียงไว้ใต้ถุนบ้าน 

            ขบวนแห่ผีขนน้ำมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี เมื่อถึงวัดผีขนน้ำได้เดินวนรอบพระอุโบสถสามรอบเป็นอันจบพิธีแล้วแยกย้ายกันไป  ที่วัดโพธิ์ศรีจัดให้มีโรงทาน การออกร้านขายของ มีงานบุญทอดผ้าป่า ส่วนตอนค่ำมีมหรสพเป็นการแสดงหมอลำบนเวที  

ที่มา : https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=109

         “ผีขนน้ำ” หรือชื่อเรียกอีกแบบหนึ่งว่า “แมงหน้างาม” การละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ที่เกือบจะสูญหายไป แต่ก็มีผู้ที่เห็นความสำคัญได้ช่วยกันรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้กลับมาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอีกครั้ง

หลายคนยังคงสงสัย ว่าผีขนน้ำคืออะไร ทำไมต้องเป็นการละเล่นนี้ ประเพณีจัดขึ้นเพื่ออะไร วันนี้แอดมินฯ  Line@Dastatravel จึงอยากพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับผีขนน้ำ หรือแมงหน้างามกันแบบถึงแก่น ตามมากันเลย


ผีขนน้ำ การละเล่นโบราณที่เกือบจะสูญหาย

แม้ว่าการละเล่นผีขนน้ำ จะถูกพูดถึงตามสื่อต่างๆ มากขึ้น แต่หลายคนยังคงเข้าใจว่า “ผีขนน้ำ” คือ ผีตาโขน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการละเล่นคนละรูปแบบและมีความต่างกันอยู่

ซึ่งผีขนน้ำ เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวนาซ่าว ที่จากเดิมคือชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน ที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ได้มาตั้งหลักแหล่งกันที่บ้านนาซำหว้า และในสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนับถือผีบรรพบุรุษและผีปู่ย่า และเชื่อกันว่าการเล่นผีขนน้ำ คือพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดขึ้น หรือเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณ “ผีเจ้าปู่” ที่ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีพืชผลอุดมสมบูรณ์


ที่มาที่ไปของคำว่า “ผีขนน้ำ”

แต่เดิมการบวงสรวงนั้น จะมีการนำวัว ควาย มาเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม แต่ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่าให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” ขึ้น แทนการนำ วัว ควาย ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชา รวมถึงยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตอบแทนบุญคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

อีกหนึ่งความเชื่อคือ ชาวบ้านเชื่อกันว่า “ผีขนน้ำ” เป็นวิญญาณของสัตว์จำพวก วัว ควาย ที่ตายไปแล้วยังล่องลอยวนเวียนอยู่ตามที่เคยอาศัย เพราะมักจะมีคนได้ยินเสียงกระดึงหรือกระดิ่ง พบแต่ขนไม่เห็นตัวตน จึงเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย”

ในยุคแรกๆ ชาวบ้านจะพากันเรียกผีขนน้ำว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเปลี่ยนเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะขนน้ำมาจากฟ้า จนกลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากจนทุกวันนี้

การละเล่น “ผีขนน้ำ” จัดขึ้นเมื่อไหร่

การละเล่นผีขนน้ำจะมี “จ้ำ” (ผู้ประกอบพิธีกรรม) เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับเจ้าปู่จิรมาณพ และเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่านบัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) ทำพิธีเข้าทรงกำหนดวัน “เลี้ยงบ้าน” จากนั้นจ้ำจะไปประกาศบอกชาวบ้านให้จัดหาข้าวปลาอาหาร ของบวงสรวงต่างๆ และ “ผีขน” ไปประกอบพิธีกันที่ดอนหอ ศาลเจ้าปู่ ของหมู่บ้าน

การกำหนดจัดงานและทำพิธีกรรมเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงผีปู่ของชาวบ้านนาซ่าว จะจัดขึ้นในวันที่เสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนา ปัจจุบัน กำหนดเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 หรือคือวันที่ต่อจากวันวิสาขบูชา เป็นวันที่เริ่มจัดงาน โดยงานจะจัดแค่ 3 วันเท่านั้น

เข้าผาม (ปะรำพิธี) เข้าไปยังวัดโพธิ์ศรี โดยในขบวนแห่นั้นประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางแต่ง ผีขน และชาวบ้านจากคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้านเดินแห่ขบวนไปรอบหมู่บ้าน เมื่อถึงวัดพระก็จะตีกลองใหญ่ 3 ครั้ง ขบวนแห่ก็จะเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ เสร็จแล้วก็นำดอกไม้ไปบูชาที่ผาม เป็นอันเสร็จพิธี


บวงสรวงผีเจ้าปู่ที่ศาลของหมู่บ้าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะมีการอัญเชิญพระอุปคุต พร้อมบั้งไฟ 5 ลูก แห่เข้าไปยังวัดโพธิ์ศรี ขณะที่แห่ก็มีการตีฆ้อง ร้องรำทำเพลงไปด้วย เมื่อไปถึงบริเวณวัดก็แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วเชิญพระอุปคุตไปไว้ที่หออุปคุต แล้วแยกย้ายไปตามคุ้มต่างๆ เพื่อรอเวลานัดหมายตั้งขบวนแห่

เมื่อถึงเวลาบรรดาผีขนน้ำของแต่ละคุ้ม จะไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมายบริเวณโรงเรียนบ้านนาซ่าว แล้วเริ่มแห่ขบวนเข้าไปในวัด ซึ่งประกอบไปด้วย นางเทียมร่างทรงเจ้าปู่จิรมาณพ ร่างทรงเจ้าปู่ผ่านพิภพ จ้ำ นางแต่ง และนางเทียม ร่างทรงวิญญาณคนอื่น ๆ ตามด้วยขบวนผีขน ขบวนบั้งไฟน้อย 5 บั้ง (ชาวบ้านเรียกว่า มะเขี่ย) ขบวนตีฆ้องตีกลอง ร้องรำทำเพลงให้ขบวนนางเทียมได้ฟ้อนรำ ส่วนผีขนก็จะเต้นรำไปตามจังหวะกลอง โดยจะเป็นการฟ้อนที่ไม่มีกำหนดตายตัวลงไปว่ามีท่าใดบ้าง คือทำท่าตามจินตนาการที่คิดว่าทำได้เหมือนผี และทำให้ผู้คนกลัวด้วย เมื่อขบวนแห่รอบโบสถ์เสร็จจะออกจากวัดโพธิ์ศรีไปยังศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าว เพื่อนำบั้งไฟน้อยห้าบั้งจุดบูชาเจ้าปู่ เพื่อขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลตามความเชื่อของชาวบ้าน


มีการแสดงพระธรรมเทศนาให้ศีลให้พรชาวบ้าน การทำอุทิศส่วนกุศลให้ผีวัว ผีควาย และ “การแห่กัณฑ์หลอน” หรือก็คือการแห่ปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาถวายวัด อันเป็นการทำนุบำรุงให้วัดมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านสืบไป ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีที่สืบทอดต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน

การทำหน้ากาก “ผีขนน้ำ”  

การทำและตกแต่งหน้ากากผีขนน้ำนั้น ชาวบ้านจะนำเอาไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด ฯลฯ ที่มีมาถากเป็นหน้ากากให้รูปหน้าคล้ายๆ วัว ควาย

บนหน้ากากวาดเป็นรูปผีน่ากลัว ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ และวาดลวดลายลงสีต่างๆ เช่น ลายบัวเครือ ลายผักแว่น ตามความเชื่อและจินตนาการเพื่อให้ดูน่ากลัว

บริเวณหัวของหน้ากาก นำแผ่นสังกะสีรูปสามเหลี่ยมมาติดทำเป็นใบหู และทำเขา โดยนิยมใช้หวายมาตรึงติดกับขอบหน้ากาก ให้ปลายทั้งสองข้างแยกออกจากกัน ใช้เชือกมัดลำหวายให้โค้งเข้าหากันพองาม เหมือนกับเขาควายที่โค้ง ใช้กระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นริ้วติดประดับระหว่างเขาทั้งสองข้าง ส่วนเส้นผมทำด้วยเชือกกล้วย (ต้นกล้วยลอกกาบแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง) หรือผ้านำมาถักเป็นเปีย แล้วเอามาใส่กับหน้าผีเพื่อทำให้ดูคล้ายผมยาวถึงน่องหรือบางคนอาจยาวถึงตาตุ่ม


ส่วนเครื่องแต่งกายของผีขนน้ำจะใช้เศษผ้าหรือผ้าจากที่นอนเก่าๆ ไม่ใช้แล้วมาทำเป็นตัวเสื้อเพื่อให้นุ่นที่ติดอยู่กับที่นอนนั้นฟุ้งกระจายไปทั่วขณะที่เต้นรำ แล้วใช้เศษผ้าตัดเป็นริ้วๆ ประดับตามตัวให้เหมือนขน และมี “กระดึง” หรือ “กะเหลบ” ผูกไว้ท้ายเอว ให้ส่งเสียงเวลาเดิน และผู้แต่งตัวเป็นผีขนน้ำ จะมีอุปกรณ์เครื่องดนตรีในการให้จังหวะประกอบการเล่นที่สนุกสนาน เช่น กลอง เคาะหรือกะลอ (ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งข้อบ้อง) และโป่ง สำหรับผู้ที่เดินร่วมขบวนก็จะตีกลอง ตีเคาะ ปรบมือ เป่าแคน ดีดพิณ เพื่อให้เกิดจังหวะอย่างสนุกสนานสลับกันไป   


แม้การเล่นผีขนน้ำที่บ้านนาซ่าวอาจถูกละเลยไปบ้างจากคนยุคใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ได้พบคือ ความสามัคคีของคนบ้านนาซ่าว ที่ยังคงยึดมั่นสืบทอดปฏิบัติกันมาทุกปี จึงทำให้การเล่นผีขนน้ำแห่งบ้านนาซ่าวนั้นกลับมาฟื้นฟู มีความโดดเด่น และที่สำคัญยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมให้คงอยู่